เมื่อกล่าวถึงการบาดเจ็บจากการทำงาน (Office Syndrome) เรามักคิดถึงการยกของหนักแล้วทำให้ปวดหลัง การนั่งพิมพ์งานมากๆ แล้วปวดไหล่ ศอก และข้อมือ การก้มศีรษะมากๆ ทำให้ปวดคอ การบาดเจ็บดังกล่าวเป็นการบาดเจ็บที่พบได้ทั่วไป ที่มีทั้งการบาดเจ็บแบบเฉียบพลัน ซึ่งมีต้นเหตุชัดเจน และการบาดเจ็บแบบที่มีการสะสม ซึ่งต้นเหตุและเวลาที่เกิดไม่ชัดเจน มุมมองดังกล่าวทำให้เรามองภาพของการบาดเจ็บในแง่มุมเดียวคือการบาดเจ็บทางกายที่มีผลจากปัจจัยทางกายภาพ มีภาพอีกภาพหนึ่งคือการบาดเจ็บทางกายที่มีผลเกี่ยวข้องกับความเครียดและอารมณ์
จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของผู้เขียน พบว่าการบาดเจ็บทางกายที่เกิดขึ้นสามารถเกิดขึ้นได้จากทางอารมณ์ด้วย ทั้งเป็นสาเหตุโดยตรงและโดยอ้อม ผู้เขียนขอแนะนำวิธีการตรวจสอบง่ายๆ เพื่อให้รู้ว่าการบาดเจ็บนั้นมาจากสาเหตุใด เพื่อที่จะได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องต่อไป ทั้งนี้ เป็นสิ่งที่ผู้เขียนนำมาจากประสบการณ์ ไม่มีทฤษฎีใดอ้างอิง
การบาดเจ็บทำให้เกิดความเครียด ความเครียดทำให้เกิดการบาดเจ็บ
รูปแบบของการบาดเจ็บทางกายอาจเกิดขึ้นจากการที่มีการบาดเจ็บของอวัยวะนั้นจริงๆ (เช่น มีหมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นกดทับเส้นประสาท) มีสาเหตุชัดเจน (เช่น ไปก้มยกของหนัก จากนั้นก็มีอาการปวดหลังร้าวลงขา)
การบาดเจ็บนี้หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง หรือระดับความรุนแรงของโรคไม่มากนัก อาการของผู้ป่วยก็จะดีขึ้น แต่หากการรักษาไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย ผู้ป่วยอาจมีอาการท้อแท้ ถดถอย เกิดภาวะความเครียด ที่ต้องสูญเสียเงิน งาน หรือแม้กระทั่งความสามารถทางกาย ตลอดจนเกิดปัญหาขึ้นกับครอบครัว
ผู้บาดเจ็บที่มีจิตใจถดถอยท้อแท้นี้ย่อมส่งผลต่อร่างกายทำให้ร่างกายมีความตึงเครียดและยากต่อการรักษา การรักษากลุ่มผู้ป่วยนี้ ต้องเริ่มจากสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ป่วยมีกำลังใจในการรักษา ก็จะทำให้การรักษาอาการบาดเจ็บง่ายขึ้น รูปแบบการบาดเจ็บทางกายนี้ อาจเป็นแบบสะสม ที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ทำงานในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง […]