Articles

โรคฮิตของคนกรุง…โรคแพ้อากาศ


โรคแพ้อากาศ,ภูมิแพ้
โรคแพ้อากาศ…นับวันยิ่งเป็นกันมากขึ้น

ท่ามกลางความศิวิไลซ์ของโลกยุคปัจจุบัน มีมลพิษ และสิ่งตกค้างต่างๆ ทั้งบนบก ในน้ำ และอากาศที่คนเราหายใจเข้าไปทุกเมื่อเชื่อวัน ด้วยเหตุนี้จึงพบผู้ป่วย “โรคแพ้อากาศ” มากขึ้น

โรคแพ้อากาศหรือทางการแพทย์เรียก “โรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้” มาจากภาษาอังกฤษ “Allergic Rhinitis” ซึ่งมีความหมายว่า การอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูกจากการแพ้ เป็นโรคที่นับวันจะพบได้บ่อยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในสภาวะแวดล้อมที่มีสารก่อภูมิแพ้เป็นจำนวนมาก เช่น ฝุ่นละออง ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ การใช้สารเคมีทางการเกษตรและมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม

จาม น้ำมูกใส คัดจมูก แต่ไม่มีไข้ตัวร้อน (อาการสำคัญของโรคแพ้อากาศ)

โรคแพ้อากาศ หรือโรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นโรคที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อสารก่อภูมิแพ้มากกว่าปกติ หรือเมื่อร่างกายของเราสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้แล้วตอบสนองออกเป็นอาการของการแพ้มากเกินไป

คนที่ไม่ได้เป็นโรคภูมิแพ้จะมีการตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้เช่นกัน แต่การตอบสนองของคนทั่วๆ ไปที่ไม่ได้เป็นโรคภูมิแพ้จะไม่มีการตอบสนองที่มากเกินไปเหมือนคนที่เป็นโรคภูมิแพ้  ในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ เมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าทางโพรงจมูกแล้วมีการตอบสนองมากเกินไป ร่างกายจะแสดงออกด้วยอาการจาม น้ำมูกใส คัดจมูก และ/หรือคันจมูก ซึ่งบางคนอาจมีอาการคันตาร่วมด้วย แต่จะไม่มีอาการไข้ตัวร้อน เหมือนดั่งที่พบในโรคไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่

โรคนี้มักเป็นกันมากตอนอากาศหรือฤดูกาลเปลี่ยนแปลง จึงเรียกกันสั้นๆ ว่า “โรคแพ้อากาศ” เพราะเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลงก็เริ่มเป็นโรคนี้ขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วขณะที่อากาศเปลี่ยนแปลงนั้นทำให้เกิดการฟุ้งกระจายสารก่อภูมิแพ้ และไปก่อโรคให้กับผู้ที่เคยเป็นโรคนี้ให้กลับมามีอาการอีกครั้งหนึ่ง

โรคแพ้อากาศ… บางคนเรียกว่า “หวัด” แต่ไม่ใช่โรคไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่

บางครั้งอาจเรียกโรคแพ้อากาศสั้นๆ ว่า “หวัด” ซึ่งหมายถึงอาการของจมูก อันได้แก่ “จาม น้ำมูกไหล คัดจมูก” ซึ่งต่างจากโรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ เพราะโรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส และมีอาการไข้ ตัวร้อน ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ และปวดเมื่อยเนื้อตัวร่วมด้วย แต่โรคแพ้อากาศมีสาเหตุจากการได้รับสารก่อภูมิแพ้ และเกิดการตอบสนองมากเกินไป จึงมีอาการจาม น้ำมูกไหล คัดจมูก และ/หรือคันจมูก แต่ไม่มีไข้ ตัวร้อน และปวดหัว

โรคแพ้อากาศ… อาจลุกลามเป็นโรคไซนัสอักเสบได้

ถ้าดูแลรักษาโรคแพ้อากาศได้ไม่ดี และเป็นแบบเรื้อรัง อาจทำให้โรคลุกลาม เกิดการอักเสบและติดเชื้อแบคทีเรียในโพรงจมูก ทำให้สีของน้ำมูกจากใสๆ เปลี่ยนไปเป็นสีข้นขาวและ/หรือเหลืองได้ และอาจลุกลามไปอวัยวะข้างเคียงโพรงจมูก อันได้แก่ ไซนัส ทำให้ไซนัสติดเชื้อแบคทีเรียและเกิดเป็น “ไซนัสอักเสบ” ได้
ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคแพ้อากาศจึงควรดูแลรักษาจนสามารถควบคุมโรคนี้ได้ อย่าปล่อยไว้ให้เป็นเรื้อรัง เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนและรักษาได้ยากยิ่งขึ้น

หลักการรักษา… โรคแพ้อากาศ

การดูแลรักษาโรคแพ้อากาศ ประกอบด้วย

1. การค้นหาและหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้

2. การรักษาด้วยยา เช่น ยาต้านฮิสทามีน ยาสตีรอยด์ชนิดพ่นจมูก ยาลดการคั่งของน้ำมูก ฯลฯ

3. การสร้างภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้

การค้นหาและหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้

เนื่องจากโรคนี้เกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อสารก่อภูมิแพ้มากเกินไป ดังนั้นถ้าขจัดสารก่อภูมิแพ้ หรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้นั้นได้ ก็จะไม่เกิดโรคนี้ ตัวอย่างของสารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อย ได้แก่ ไรฝุ่น แมลงสาบ เชื้อรา และเกสรดอกไม้ เป็นต้น

เริ่มต้นสังเกตด้วยตนเองว่า “สารก่อภูมิแพ้ชนิดใดที่เกี่ยวข้องกับอาการของโรค” ถ้าพบสารก่อภูมิแพ้และหลีกเลี่ยงได้ก็จะดีเยี่ยม ตัวอย่างเช่น ไรฝุ่น ซึ่งเป็นแมลงขนาดเล็กพบได้ในที่นอน ไรฝุ่นจะถ่ายมูลออกมาฟุ้งกระจายในห้องนอน เมื่อใดที่เข้านอนจะพบขี้ของไรฝุ่น ซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้ และมีอาการจาม คัดจมูก และน้ำมูกไหล ทุกครั้งที่เข้านอนทุกคืน ถ้ามีการกำจัดไรฝุ่นด้วยการต้มผ้าห่ม ปลอกหมอน และอุปกรณ์การนอน และ/หรือที่นอนปราศจากไรฝุ่น ก็จะช่วยลดไรฝุ่น และลดอาการแพ้อากาศได้ เป็นต้น

แต่ในทางปฏิบัติ การค้นหาสารก่อภูมิแพ้เป็นเรื่องยากมาก จึงอาจจะต้องขอความช่วยเหลือจากแพทย์ ซึ่งแพทย์จะนำตัวอย่างสารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อย เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ เชื้อรา และเกสรดอกไม้ เป็นต้น มาทดสอบการแพ้ที่ผิวหนังของผู้ป่วย ถ้าโชคดีก็อาจจะพบสารก่อภูมิแพ้ได้

ดังนั้น การรักษาผู้ที่ต้องการควบคุมอาการแพ้อากาศ จึงนิยมใช้ยาเป็นทางเลือกแรก ควบคู่กับการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ (ถ้าค้นหาพบ) ยาที่ใช้ในการรักษาโรคแพ้อากาศ ได้แก่ ยาต้านฮิสทามีน ยาสตีรอยด์ชนิดพ่นจมูก ยาลดการคั่งของน้ำมูก ฯลฯ

ยาต้านฮิสทามีน…ได้ผลดี ราคาย่อมเยา แต่อาจทำให้ง่วงนอนได้

ยาต้านฮิสทามีน (antihistamines) เป็นยาที่ได้ผลดีต่อโรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะอาการคัดจมูก จาม และน้ำมูกไหล มีทั้งชนิดเม็ดสำหรับกิน และชนิดพ่นจมูก แต่ในทางปฏิบัติจะนิยมใช้ยาเม็ดมากกว่า ทั้งนี้เพราะยาเม็ดเป็นยาที่ใช้สะดวก ได้ผลดี และมีราคาย่อมเยา แต่ยาบางชนิดอาจทำให้ง่วงนอนได้ จึงควรระวัง และเลือกใช้อย่างเหมาะสม

ตัวอย่างยาต้านฮิสทามีน ได้แก่ คลอร์เฟนิรามีน (chlorpheniramine) เซทิริซีน (cetirizine) ลอราทาดีน (loratadine) เฟกโซฟีนาดีน (fexofenadine) เป็นต้น

ยาคลอร์เฟนิรามีนเป็นยาแก้แพ้เม็ดเล็กๆ สีเหลือง ราคาไม่แพง ได้ผลดี แต่มีข้อเสียคือ จะมีอาการซึมหรือง่วงนอนหลังกินยา จึงเหมาะสำหรับการใช้ยานี้ในเวลาเข้านอน เพราะจะช่วยให้หลับสบาย พักผ่อนได้เต็มที่ ทำให้โรคแพ้อากาศดีขึ้น หรือในรายที่ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร หรือขับรถ เพราะถ้าง่วงนอนก็ไม่มีอันตรายใดๆ

ส่วนยาเซทิริซีน ลอราทาดีน และเฟกโซฟีนาดีน เป็นยาต้านฮิสทามีนที่ได้ผลดี และไม่ค่อยทำให้ง่วงนอน กินเพียงวันละ 1-2 ครั้ง ปัจจุบันมีผู้ผลิตยาเหล่านี้เป็นจำนวนมาก ทำให้ราคาถูกลงมากขึ้นไม่แพงเหมือนแต่ก่อนที่มีเฉพาะยาต้นตำรับเพียงรายเดียวเท่านั้น ยากลุ่มนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคแพ้อากาศ ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ไม่มีผลรบกวนการทำงาน เรียนหนังสือ หรือการดำเนินชีวิตประจำวัน จึงได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

ยาสตีรอยด์ชนิดพ่นจมูก… ได้ผลดีเยี่ยม ปลอดภัย แต่ราคาต่อขวดค่อนข้างสูง

ยาสตีรอยด์ชนิดพ่นจมูกนี้ (intranasal corticosteroids) เป็นยาอีกชนิดหนึ่งที่ได้ผลดี ปลอดภัย แต่ราคาต่อขวดค่อนข้างสูง เป็นหลักร้อยถึงพันบาท ในหนึ่งขวดบรรจุตัวยาให้สามารถใช้ได้ ประมาณ 60-120 ครั้ง (ซึ่งถ้าคำนวณต่อครั้ง จะถูกลงมาก) แต่เนื่องจากราคาต่อขวดค่อนข้างสูง จึงนิยมใช้ในผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านฮิสทามีนแล้วไม่ได้ผล หรือที่มีอาการเรื้อรังและ/หรือค่อนข้างรุนแรง เช่น เป็นทุกวัน มีอาการมากทั้งวัน เป็นต้น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ยานี้มีประสิทธิภาพในการรักษาได้ดีกว่ายาต้านฮิสทามีน

ยาลดการคั่งของน้ำมูก

ยาลดการคั่งของน้ำมูก (decongestants) หรืออาจเรียกว่า ยาแก้คัดจมูก เพราะยานี้มีสรรพคุณช่วยลดอาการคัดจมูก ทำให้รู้สึกโล่งจมูก หายใจได้สะดวก มีทั้งชนิดพ่นจมูก และชนิดกิน

ยาลดการคั่งของน้ำมูกชนิดพ่นจมูกเป็นยาใช้พ่นจมูก หรือเช็ดจมูก เพื่อช่วยลดอาการคัดจมูก ทำให้รู้สึกโล่งจมูก หายใจได้สะดวก แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันเกินกว่า ๑๐ วัน เพราะจะเกิดผลข้างเคียงได้

ยาลดการคั่งของน้ำมูกชนิดกิน เช่น สูโดเอฟีดรีน (pseudoephedrine) นิยมผสมกับยาต้านฮิสทามีน เพื่อเสริมฤทธิ์แก้คัดจมูกให้กับยาต้านฮิสทามีนให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

การสร้างภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้

ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถควบคุมอาการแพ้อากาศได้อย่างดีด้วยยา ซึ่งเริ่มต้นด้วยยาต้านฮิสทามีน (อาจผสมกับยาลดการคั่งของน้ำมูก) ถ้าอาการไม่ดีขึ้นก็อาจพิจารณาใช้ยาสตีรอยด์ชนิดพ่นจมูกแทน และมักจะได้ผลดี แต่ในบางรายอาจควบคุมอาการของโรคได้ไม่ดี หรือไม่เป็นที่น่าพอใจ ก็ควรแนะนำไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการสร้างภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้ (immunotherapy)

การสร้างภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้ แพทย์จะเริ่มต้นด้วยการทดสอบสารก่อภูมิแพ้ที่ผิวหนังของผู้ป่วย ถ้าพบสารก่อภูมิแพ้ แพทย์จะเริ่มต้นให้สารละลายของสารก่อภูมิแพ้ที่ผิวหนังของผู้ป่วยทีละน้อยๆ เพื่อให้ร่างกายค่อยๆ สร้างภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้นี้ขึ้นเรื่อยๆ พร้อมทั้งค่อยๆ เพิ่มปริมาณความเข้มข้นของสารก่อภูมิแพ้ให้มากขึ้น จนร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้มากขึ้นๆ เรื่อยๆ จนช่วยควบคุมอาการของโรคได้ดียิ่งขึ้น ในบางรายอาจลดขนาดหรือความถี่ของการใช้ยาได้อีกด้วย

สุขพลานามัยที่ดี… ช่วยลดการเป็นโรคแพ้อากาศ

อย่างไรก็ตาม การรักษาสุขภาพอนามัย หรือ “สุขภาวะ” ของร่างกายให้ดีอยู่เสมอก็จะช่วยลดอาการของโรคแพ้อากาศได้เป็นอย่างดี เพราะถ้าเรามีสุขภาพแข็งแรง พักผ่อนเต็มที่ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยลดความถี่และระดับความรุนแรงของโรคแพ้อากาศได้ จนอาจจะไม่มีอาการของโรคเลยได้ โดยเฉพาะผู้ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โรคแพ้อากาศก็จะจางหายไปได้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

หมอชาวบ้าน

1 comment to โรคฮิตของคนกรุง…โรคแพ้อากาศ