Articles

โรคปวดข้อรูมาตอยด์

โรคปวดข้อรูมาตอยด์เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ที่มักเกิดกับข้อนิ้วมือนิ้วเท้าทุกข้อ ๒ ข้างพร้อมกันทำให้ปวดข้อ ข้อแข็ง กำลำบาก เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง  ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผู้ที่เป็นโรคนี้ ควรติดตามรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง หากปล่อยปละละเลยอาจทำให้ข้อพิการรุนแรงได้

 

รูมาตอยด์,ปวดข้อ

ชื่อภาษาไทย

โรคปวดข้อรูมาตอยด์ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

ชื่อภาษาอังกฤษ

Rheumatoid arthritis

สาเหตุ

โรคนี้พบว่ามีการอักเสบเรื้อรังของเยื้อบุข้อเกือบทุกแห่งทั่วร่างกายพร้อมๆ กันร่วมกับมีการอักเสบของพังผืดหุ้มข้อ เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อ เชื่อว่าเป็นผลมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีการตอบสนองอย่างผิดปกติต่อเชื้อโรค หรือสารเคมีบางอย่าง (ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน) ทำให้มีการสร้างภูมิต้านทาน(แอนติบอดี) ที่มีปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื้อในบริเวณข้อของตัวเองเรียกว่า ปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง (autoimmune)

อาการ

ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป เริ่มด้วยอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและกระดูกนำมาก่อนนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน แล้วต่อมาจึงมีอาการอักเสบของข้อปรากฏให้เห็น ส่วนน้อยอาจมีอาการของข้ออักเสบเกิดขึ้นฉับพลันภายหลังได้รับบาดเจ็บ เป็นโรคติดเชื้อ หลังผ่านตัด หลังคลอด หรืออารมณ์เครียด ซึ่งบางรายอาจมีอาการไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต ม้ามโตร่วมด้วย 

ข้อที่เริ่มมีอาการอักเสบก่อน ได้แก่ ข้อนิ้วมือนิ้วเท้า ข้อมือ ข้อเท้า ข้อเข่า ต่อมาจะเป็นที่ข้อไหล่ ข้อศอก

ผู้ป่วยจะมีลักษณะจำเพาะ คือมีอาการปวดข้อพร้อมกันและคล้ายคลึงกันทั้ง ๒ ข้าง และข้อจะบวมแดงร้อน นิ้วมือนิ้วเท้าจะบวมเหมือนรูปกระสวย ต่อมาอาการอักเสบจะลุกลามไปทุกข้อทั่วร่างกาย ตั้งแต่ข้อขากรรไกรลงมาที่ต้นคอ ไหปลาร้า ข้อไหล่ ข้อศอก ข้อมือ ข้อนิ้วมือลงมาจนถึงข้อเท้าและข้อนิ้วเท้า บางรายอาจมีอาการอักเสบของข้อเพียง ๑ ข้อหรือไม่กี่ข้อ และอาจเป็นเพียงข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย(ไม่เกิดพร้อมกันทั้ง ๒ ข้างของร่างกาย ก็ได้) 

อาการปวดข้อและข้อเเข็ง (ขยับลำบาก) มักจะเป็นมากในช่วงตื่นนอนหรือตอนเช้า ทำให้รู้สึกขี้เกียจหรือไม่อยากตื่นนอน พอสายๆ หรือหลังมีการเคลื่อนไหวของร่างกายจะทุเลา บางรายอาจมีการปวดข้อตอนกลางคืน จนนอนไม่หลับ

อาการปวดข้อจะเป็นอยู่ทุกวัน และมากขึ้นทุกขณะนานเป็นแรมเดือนแรมปี โดยมีบางระยะอาจทุเลาไปได้เอง แต่จะกลับกำเริบรุนแรงขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะมีความเครียดหรือขณะตั้งครรภ์ ถ้าข้ออักเสบเรื้อรังอยู่หลายปี ข้ออาจจะเเข็งแรงและพิการได้

นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายยังอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ภาวะโลหิตจาง ฝ่ามือแดง มีผื่นหรือตุ่มขึ้นตามผิวหนัง อาการปวดชาปลายมือจากภาวะเส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดแน่น อาการนิ้วมือนิ้วเท้าซีดขาวและเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำเวลาถูกความเย็น (Raynaud’ s phenomenon) ต่อมน้ำเหลืองโต ม้ามโต ตาอักเสบ หัวใจอักเสบ หลอดเลือดแดงอักเสบ ปอดอักเสบ ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด ไข้ต่ำๆ น้ำหนักลด เป็นต้น

การแยกโรค

ในรายที่มีอาการปวดตามข้อนิ้วมือนิ้วเท้าทุกนิ้วพร้อมกันทั้ง ๒ ข้างอาจต้องแยกออกจากโรคเอสแอลอี (SLE) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากปฎิกิริยาภูมิต้านตนเองชนิดหนึ่งที่มีความร้ายแรง และพบมากในผู้หญิงอายุ ๒๐-๕๐ ปี เช่นเดียวกับโรคปวดข้อรูมาตอยด์ นอกจากอาการปวดข้อแล้วผู้ป่วยยังมีอาการไข้เรื้อรังนานเป็นแรมเดือน ผมร่วง มีฝ้าแดงขึ้นที่โหนกแก้ม ๒ ข้างคล้ายรูปปีกผีเสื้อ อาจมีอาการซีด ลมพิษ ผื่นคัน จุดแดง หรือบวมทั้งตัวร่วมด้วย

ในรายที่มีข้ออักเสบ (ปวดบวม แดงร้อน) เพียง ๑ ข้อหรือไม่กี่ข้อ ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น

  • เกาต์ (gout) ผู้ป่วยมักมีอาการปวดบวม แดงร้อนที่ข้อหัวแม่เท้า หรือข้อเท้า ซึ่งเกิดขึ้นฉับพลันหลังกินเลี้ยง ดื่มเหล้า หรือกินอาหารที่ทำให้ยูริกในเลือดสูง (เช่น เครื่องในสัตว์ ยอดผักหรือพืชหน่ออ่อน หรือเนื้อสัตว์ปริมาณมาก) พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
  • ไข้รูมาติก (rheumatic fever)  ผู้ป่วยมักมีอาการไข้ร่วมกับอาการปวดบวม แดงร้อนที่ข้อใหญ่ๆ (เช่น ข้อเข่า ข้อเท้า ข้อศอก) เพียง ๑ ข้อก่อน แล้วย้ายไปที่ข้ออื่นทีละข้อ มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี และอาจมีประวัติเป็นไข้และเจ็บคอ (ทอนซิลอักเสบ) นำมาก่อน ๑-๔ สัปดาห์

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการปวดข้อนิ้วมือนิ้วเท้าทุกข้อพร้อมกันทั้ง ๒ ข้างหรืออาการปวดข้อเรื้อรังที่ชวนให้สงสัยเป็นโรคนี้

  • ตรวจเลือด พบค่าอีเอสอาร์ (ESR หมายถึง อัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง) สูงกว่าปกติ อาจตรวจพบรูมาตอยด์แฟกเตอร์ (rheumatoid factor) สารภูมิต้านทานที่มีชื่อว่า anti-cyclic citrullirated peptide (anti-CCP)
  • เอกซเรย์ พบความผิดปกติของข้อและภาวะกระดูกพรุน (asteoporosis)

การดูแลตนเอง

เมื่อมีอาการปวดข้อนานเกิน ๒ สัปดาห์ หรือมีอาการปวดบวม แดงร้อน ที่ข้อ (ไม่ว่าข้อใด หรือจำนวนกี่ข้อก็ตาม) ก็ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด

เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าเป็นโรคปวดข้อรูมาตอยด์ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้

  • กินยา รักษาทางกายภาพบำบัดตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามการรักษากับแพทย์ประจำตามนัดอย่างต่อเนื่อง
  • อย่าซื้อยาชุด ยาลูกกลอนกินเอง เพราะอาจมีส่วนผสมของสารสตีรอยด์ ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงได้(แม้ว่าจะช่วยให้อาการทุเลาหรือหายดีก็ตาม)
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายที่ไม่หนักเกินไป เช่น เดินเร็ว ว่ายน้ำ รำมวยจีน ฝึกชี่กง ฝึกกายบริหาร เป็นต้น แต่ว่าถ้าออกกำลังการแล้ว กลับมีอาการปวดข้อมากขึ้น ก็ควรงดและปรึกษาแพทย์ว่าควรออกกำลังการแบบไหนดี
  • ประคบข้อที่ปวดด้วยน้ำอุ่นจัดๆ อาบหรือเเช่ในน้ำอุ่นนานครั้งละ ๑๕ นาที
  • ถ้ามีความเครียด ให้พักผ่อนโดยหายใจเข้าออกลึกๆ (นาทีละไม่เกิน ๑๐ ครั้ง) นาน ๑-๒ นาที ทำบ่อยๆ ทุกวัน (อาจทุก ๒-๕ ชั่วโมง) หรือทำสมาธิ หรือ ฝึกเจริญสติ (จิตใจจดจ่อกับการเคลื่อนไหวหรือสมาธิในชีวิตประจำวัน)

การรักษา

แพทย์จะให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ เช่น แอสไพริน (ขนาดสูง วันละ ๓-๔ ครั้ง ครั้งละ ๓-๔ เม็ด) หรือไอบูโพรเฟน (ibuprofen) เพื่อลดการอักเสบของข้อและบรรเทาปวด อาจต้องกินติดต่อกันนานเป็นแรมเดือนหรือแรมปี ยานี้อาจทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะลำไส้ แพทย์อาจให้กินยารักษากระเพาะ เช่น โอมีพราโซล (omeprazole) ควบคู่ด้วยเพื่อป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะลำไส้

นอกจากนี้ แพทย์อาจให้การรักษาทางกายภาพบำบัด เช่นการประคบด้วยน้ำอุ่นจัดๆ การฝึกกายบริหารเป็นต้น

ในรายที่กินยาชนิดดังกล่าวเพียงอย่างเดียวไม่ได้ผลแพทย์ก็อาจใช้ยาลดการอักเสบชนิดอื่นๆ เช่น ไฮดรอกซีคลอโรควีน (hydroxychloroquine) สารเกลือของทอง (gold salt) ยาสตีรอยด์   เมโทเทรกเซต (methiotrexate) ยากดภูมิคุ้มกัน (เช่น ไซโคลสปอริน) เป็นต้น

ในรายที่เป็นรุนแรง แพทย์อาจรับตัวผู้ป่วยไว้นอนพักรักษาในโรงพยาบาลนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนและอาจต้องเข้าเฝือกเพื่อให้ข้อที่ปวดได้พักผ่อนอย่างเต็มที่

ในรายที่มีข้อพิการรุนแรง อาจต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด

ภาวะแทรกซ้อน

ถ้าเป็นรุนแรงและเรื้อรังอาจทำให้ข้อพิการผิดรูปผิดร่าง ใช้การไม่ได้ บางรายอาจมีการผุกกร่อนของกระดูก

ในบ้านเราพบว่ามีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว

การดำเนินโรค

โรคนี้มักเป็นเรื้อรังตลอดชีวิต ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ข้อพิการได้ (ในบ้านเราพบว่าเพียงส่วนน้อยที่อาจมีข้อพิการรุนแรงแทรกซ้อน)

ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และปฎิบัติตัวอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่อาการจะทุเลาได้ หรืออาจหายขาดได้ มีเพียงร้อยละ ๒๐-๓๐ ที่อาจมีอาการรุนแรงที่ต้องใช้ยานอกเหนือจากยากต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์

การป้องกัน

โรคนี้เกิดจากปฎิกิริยาภูมิต้านตนเอง ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน จึงไม่อาจหาวิธีป้องกันไม่ให้เป็น

แต่เมื่อเป็นโรคนี้แล้ว ควรรับการรักษาและปฏิบัติตัวอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกำเริบหนัก และเกิดภาวะข้อพิการรุนแรง

ความชุก

พบได้ประมาณร้อยละ ๑-๓ ของคนทั่วไป พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ประมาณ ๔-๕ เท่าและพบมากในช่วงอายุ ๒๐-๕๐ ปี แต่ก็พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
หมอชาวบ้าน

Comments are closed.