Prostate Cancer
มะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนใหญ่ไม่มีอาการแสดง และอาจตรวจพบโดยบังเอิญขณะไปตรวจเช็กสุขภาพกับแพทย์ บางรายอาจมีอาการถ่ายปัสสาวะลำบากแบบเดียวกับอาการของต่อมลูกหมากโต
มะเร็งชนิดนี้มักลุกลามช้า และสามารถมีชีวิตเป็นปกติสุขและยืนยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่ไม่มีอาการแสดง
ปัจจุบันยังไม่แนะนำให้ผู้ที่ไม่มีอาการแสดงไปตรวจคัดกรองมะเร็งชนิดนี้ด้วยการตรวจหาระดับสารพีเอสเอในเลือด เพราะยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าได้ประโยชน์เท่าที่ควร
สาเหตุ
ยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน (androgen) ได้แก่ เทสโทสเทอโรน (testosterone) ร่วมกับปัจจัยทางกรรมพันธุ์ (พบว่าผู้ที่มีพ่อหรือพี่น้องเป็นโรคนี้ จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งชนิดนี้มากกว่าคนทั่วไป) อาหาร (มะเร็งชนิดนี้พบมากในคนอ้วน ผู้ที่กินเนื้อแดงหรือไขมันมาก กินผักผลไม้น้อย) การทำหมัน (พบว่าผู้ชายที่ทำหมันเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ทำหมัน) และการมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนในเลือดสูง (เช่น การใช้ฮอร์โมนชนิดนี้เป็นเวลานานๆ)
อาการ
มะเร็งชนิดนี้มักมีการลุกลามช้า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแสดง อาจตรวจพบโดยบังเอิญขณะไปตรวจเช็กสุขภาพ
ในรายที่มะเร็งลุกลามเป็นก้อนโตจนเกิดภาวะอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ ก็จะมีอาการแบบเดียวกับต่อมลูกหมากโต กล่าวคือจะเกิดอาการถ่ายปัสสาวะลำบาก ต้องออกแรงเบ่งหรือรอนานกว่าจะถ่ายปัสสาวะออกมาได้ ทำให้ใช้เวลาในการถ่ายปัสสาวะนาน ปัสสาวะไม่พุ่ง ลำปัสสาวะเบี้ยวหรือเล็กลง มีความรู้สึกเหมือนถ่ายไม่สุด และปัสสาวะบ่อย หลังเข้านอนตอนกลางคืนต้องลุกขึ้นปัสสาวะบ่อย
บางรายอาจถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด หรือมีเลือดออกปนมากับน้ำอสุจิ
ในรายที่มะเร็งแพร่กระจาย ผู้ป่วยจะมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด
ถ้ามะเร็งแพร่ไปกระดูกสันหลัง ซี่โครง หรือเชิงกราน จะมีอาการปวดหลัง ซี่โครง หรือเชิงกราน
ถ้าแพร่ไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณต้นขาจะมีอาการขาบวม
ถ้าแพร่ไปที่ประสาทสันหลังจะมีอาการขาชาและอ่อนแรง
ถ้าแพร่ไปที่สมองจะมีอาการปวดศีรษะ เดินเซ แขนขาอ่อนแรง
การแยกโรค
ในรายที่มีอาการถ่ายปัสสาวะลำบาก ต้องออกแรงเบ่งนานหรือปัสสาวะไม่พุ่ง ลำปัสสาวะเบี้ยวหรือเล็กลง อาจต้องแยกออกจากโรคต่อมลูกหมากโต โดยการตรวจเลือดดูระดับสารพีเอสเอ (มักพบว่าสูงในมะเร็งต่อมลูกหมาก) และการตรวจชิ้นเนื้อ
ในรายที่ถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด อาจเกิดจากเนื้องอกของทางเดินปัสสาวะ หรือนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้โดยการใช้นิ้วตรวจทางทวารหนัก คลำพบว่าต่อมลูกหมากเป็นก้อนแข็งหรือขรุขระ ตรวจพบสารพีเอสเอ (prostate specific antigen-PSA) ในเลือดสูง และทำการตรวจอัลตราซาวนด์ต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก (transrectal ultrasound-TRUS) และตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์
ในรายที่สงสัยว่ามะเร็งมีการแพร่กระจาย แพทย์อาจทำการตรวจสแกนกระดูก (bone scan) ถ่ายภาพด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
แพทย์จะกำหนดระยะของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากไว้ ดังนี้
ระยะที่ ๑. เป็นระยะเริ่มแรกสุด ที่เริ่มมีการก่อตัวของเซลล์มะเร็ง ซึ่งแพทย์ยังไม่สามารถคลำพบด้วยนิ้วมือ
ระยะที่ ๒. ก้อนมะเร็งมีขนาดโตขึ้นจนคลำพบได้ด้วยนิ้วมือ แต่ยังจำกัดขอบเขตอยู่ภายในต่อมลูกหมาก
ระยะที่ ๓. มะเร็งลุกลามออกนอกต่อมลูกหมากไปยังอวัยวะที่อยู่ข้างเคียง
ระยะที่ ๔. มะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง หรือผ่านกระแสเลือดไปยังกระดูก ประสาทไขสันหลัง สมอง หรืออวัยวะอื่นๆ
การดูแลตนเอง
เมื่อสังเกตพบว่ามีอาการถ่ายปัสสาวะผิดปกติ เช่น ถ่ายลำบาก เบ่งนาน ปัสสาวะไม่พุ่ง ปัสสาวะลำเล็กหรือลำเบี้ยว กลางคืนต้องลุกขึ้นถ่ายปัสสาวะบ่อย หรือมีเลือดปนในปัสสาวะหรือน้ำอสุจิ ควรจะรีบไปปรึกษาแพทย์
ถ้าพบว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ควรติดตามรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ (มักจะเป็นศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ หรือหมอยูโร หรือ urologist และแพทย์โรคมะเร็ง) อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมะเร็งต่อมลูกหมากมักจะมีการลุกลามช้า และการบำบัดรักษาสามารถควบคุมโรคได้ค่อนข้างดี ทำให้มีชีวิตได้ยืนยาว ผู้ป่วยจึงควรดำเนินกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติ และควรดูแลสุขภาพของตนเองดังนี้
♦ ออกกำลังกาย อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๕ วัน
♦ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
♦ กินอาหารให้ครบ ๕ หมู่ โดยเน้นผัก ผลไม้ให้มากๆ กินโปรตีนจากปลา ถั่วเหลือง และเต้าหู้ ลดเนื้อแดง ไขมัน และน้ำตาล
♦ ผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำงานอดิเรกที่ชอบ (เช่น ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ วาดภาพ เล่นดนตรี ร้องเพลง เต้นรำ) เจริญสมาธิและสติ พูดคุยปรับทุกข์กับญาติมิตรสนิท เข้าสมาคมสังสรรค์กับผู้คนต่างๆ รวมทั้งทำงานจิตอาสา หรือสาธารณกุศล
♦ หากมีโอกาสควรเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มมิตรภาพบำบัดโรคมะเร็ง
การรักษา
แพทย์จะเลือกวิธีการรักษาตามความรุนแรง (มะเร็งลุกลามเร็วหรือช้า) ระยะของโรคที่เป็น อายุของผู้ป่วย รวมทั้งคำนึงถึงผลดีผลเสียของวิธีการรักษา
♦ ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งระยะแรกเริ่ม (ระยะที่ ๑) ไม่มีอาการแสดง (ตรวจพบโดยบังเอิญ) แพทย์จะไม่ให้การรักษาใดๆ แต่จะเฝ้าติดตามดูการเปลี่ยนแปลงโดยการตรวจระดับสารพีเอสเอและการใช้นิ้วตรวจทางทวารหนักเป็นระยะๆ ถ้าจำเป็นอาจทำการตรวจชิ้นเนื้อ
ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีชีวิตที่เป็นปกติสุขอยู่ได้เป็นเวลานาน เนื่องจากมะเร็งมีการลุกลามช้า ไม่คุ้มกับความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนจากวิธีบำบัดรักษา เช่น กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น
แต่ถ้าติดตามแล้วพบว่ามะเร็งมีการลุกลามมากขึ้น แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยการผ่าตัด หรือรังสีบำบัด
♦ ผู้ที่มีสุขภาพทรุดโทรม หรือมีโรคประจำตัวร้ายแรง (เช่น โรคหัวใจ) หรือคาดว่าอยู่นานไม่ถึง ๑๐ ปี หรือมีอายุมากเป็นอุปสรรคต่อการผ่าตัดหรือฉายรังสี แพทย์ก็อาจไม่ให้การรักษาใดๆ และเฝ้าติดตามดูการเปลี่ยนแปลงของโรค ในทำนองเดียวกัน
♦ ผู้ป่วยที่มะเร็งยังจำกัดอยู่เฉพาะที่ต่อมลูกหมาก และมีอายุต่ำกว่า ๖๕ ปี หรือคาดว่าสามารถอยู่ได้นานเกิน ๑๐ ปี มักจะทำการผ่าตัดต่อมลูกหมาก ซึ่งมีอยู่หลายวิธี รวมทั้งวิธีใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด
การผ่าตัดอาจมีผลข้างเคียง เช่น กลั้นปัสสาวะไม่ได้ นกเขาไม่ขัน (องคชาตไม่แข็งตัว)
♦ ผู้ป่วยที่มะเร็งยังจำกัดอยู่เฉพาะที่ต่อมลูกหมาก แต่มีอายุมาก หรือสุขภาพทรุดโทรม หรือปฏิเสธการผ่าตัด หรือผู้ป่วยที่มะเร็งเริ่มลุกลามออกไปที่บริเวณรอบๆ ต่อมลูกหมาก แพทย์มักจะให้การรักษาด้วยรังสีบำบัด ซึ่งมีทั้งวิธีฉายรังสีจากภายนอกเข้าไปที่ต่อมลูกหมาก หรือการฝังเม็ดรังสี (radioactive seeds) ไว้ในเนื้อมะเร็ง
รังสีบำบัดอาจมีผลข้างเคียง เช่น อาการเจ็บปวดขณะถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ ปัสสาวะบ่อยหรือต้องรีบเข้าห้องน้ำทันทีที่มีความรู้สึกปวดปัสสาวะ ถ่ายอุจจาระเหลว นกเขาไม่ขัน
♦ ผู้ป่วยที่มะเร็งแพร่กระจายไปทั่วแล้วหรือค่าพีเอสเอเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ หรือผู้ป่วยอายุน้อยที่เป็นมะเร็งชนิดร้ายแรง แพทย์มักจะให้ฮอร์โมนบำบัด โดยการให้ยาต้านแอนโดรเจนชนิดเม็ด (เช่น bicaltumide, nilutamide, flutamide) หรือฉีดยายับยั้งฮอร์โมน luteinizing hormone-releasing hormone (LH-RH) ทำให้อัณฑะไม่สามารถสร้างฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (เช่น leuprorelin, goserelin)
บางรายแพทย์อาจทำการผ่าตัดอัณฑะออกทั้ง ๒ ข้าง เพื่อไม่ให้มีการสร้างฮอร์โมนเพศชาย (เทสโทสเทอโรน)
การทำฮอร์โมนบำบัดลดปริมาณเทสโทสเทอโรนจะช่วยให้ก้อนมะเร็งฝ่อเล็กลง
นอกจากใช้กับมะเร็งที่แพร่กระจายแล้ว บางครั้งแพทย์ก็อาจนำไปใช้ในผู้ป่วยหลังผ่าตัด หรือในผู้ป่วยก่อนหรือหลังให้รังสีบำบัด เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการรักษา
ฮอร์โมนบำบัดอาจมีผลข้างเคียง เช่น นกเขาไม่ขัน น้ำหนักขึ้น ร้อนวูบวาบตามตัว สูญเสียมวลกล้ามเนื้อและกระดูก และหากใช้นานๆ อาจทำให้เกิดโรคหัวใจได้
หลังการรักษาไม่ว่าด้วยวิธีใด แพทย์จะติดตามตรวจระดับสารพีเอสเอในเลือดเป็นระยะ ถ้าอยู่ในเกณฑ์ปกติ แสดงว่าโรคสงบหรือทุเลา แต่ถ้ามีค่าสูงขึ้นก็แสดงว่าโรคอาจกำเริบขึ้นอีก
ภาวะแทรกซ้อน
มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดอาการทุกข์ทรมานหรือพิการ (เช่น ปวดหลัง ปวดกระดูก แขนขาอ่อนแรง) และอายุสั้น
นอกจากนี้ โรคนี้ยังอาจทำให้เกิดอาการนกเขาไม่ขันและกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ซึ่งอาจเกิดจากตัวโรคเองหรือเป็นผลข้างเคียงจากการรักษาก็ได้
การดำเนินของโรค
ขึ้นกับความรุนแรง ระยะของโรค อายุผู้ป่วย และการตอบสนองต่อการรักษา
ถ้าเป็นระยะแรกเริ่ม เป็นมะเร็งชนิดลุกลามช้า หรือไม่มีอาการแสดง มักจะมีชีวิตอยู่ได้ยืนยาว
การป้องกัน
ถึงแม้มะเร็งชนิดนี้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด และหาทางป้องกันได้ยาก แต่การปฏิบัติตัวต่อไปนี้อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค และชะลอการลุกลามของโรค
♦ ลดอาหารมัน
♦ กินผัก ผลไม้ เมล็ดธัญพืช ถั่วเหลือง และเต้าหู้ให้มากๆ
♦ กินมะเขือเทศ (ที่ปรุงสุก) แตงโม มะละกอสุก และฝรั่งไส้ชมพูให้มากๆ ซึ่งมีสารไลโคพีน (lycopene) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่ง
♦ ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๕ วัน
♦ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
♦ การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง
ปัจจุบันยังไม่แนะนำให้ทำการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในคนทั่วไปที่ไม่มีอาการ เช่น การตรวจสารพีเอสเอในเลือด การใช้นิ้วตรวจทางทวารหนัก เพราะยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่ามีประโยชน์ เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่ไม่มีอาการแสดงมักเป็นมะเร็งชนิดเจริญช้า ไม่แพร่กระจายออกนอกต่อมลูกหมากและสามารถมีชีวิตที่เป็นปกติเป็นเวลายาวนาน
นอกจากนี้ การตรวจคัดกรองโรคด้วยการตรวจสารพีเอสเอในเลือดยังขาดความแม่นยำ มีโอกาสพบผลบวกลวง (false positive หมายถึงตรวจพบระดับของพีเอสขึ้นสูงซึ่งเกิดจากสาเหตุที่ไม่ร้ายแรง ไม่ใช่เกิดจากมะเร็ง) ค่อนข้างมาก ซึ่งอาจนำไปสู่การตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ไม่จำเป็นและเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติโรคนี้ในครอบครัว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาถึงผลดีผลเสียของการตรวจคัดกรองมะเร็งชนิดนี้
แนวโน้ม
โรคนี้พบมากเป็นอันดับ ๕ ของมะเร็งที่พบในผู้ชาย มักพบในผู้ชายอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป ส่วนในช่วงอายุ ๔๐-๖๐ ปีอาจพบได้ แต่น้อย ผู้ที่มีพ่อหรือพี่น้องเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป คนอ้วนที่เป็นมะเร็งชนิดนี้ มักเป็นมะเร็งชนิดร้ายแรง และรักษายากกว่าคนที่ไม่อ้วน
ขอบคุณข้อมูลจาก
หมอชาวบ้าน